BORN IN 1853, MADE FOR THE FUTURE
นิทรรศการจัดแสดงอนาคตของ BEE BOTTLE ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 1853

ในปีค.ศ. 2023 อันถือเป็นวาระครบรอบ 170 ของ Bee Bottle หรือขวดลายผึ้ง Guerlain ได้ดำเนินงานพัฒนากลไกปัญญาประดิษฐ์ระบบเฉพาะกาลสำหรับจัดนิทรรศการดิจิทัลล้ำสมัยสุดท้าทายเพื่อนำเสนอขวดลายผึ้งในแต่ละยุคสมัย นับจากรุ่นต้นแบบที่มีการสรรค์สร้างขึ้นระหว่างปีค.ศ. 1853 ไปจนถึงงานออกแบบของโลกอนาคตในปี 2193

นิทรรศการดิจิทัล: BORN IN 1853. MADE FOR THE FUTURE

โจทย์ท้าทายในการจัดนิทรรศการแสดงผลงานย้อนอดีตมาจนถึงจินตประดิษฐ์แห่งโลกอนาคต ถูกขานรับด้วยการผสานกลไกปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งได้รับการพัฒนาระบบเฉพาะกาลโดยอาศัยงานวิจัยขยายผลในประเด็นมรดกทางงานสร้างสรรค์ของ Maison Guerlain

ศิลปวัตถุอันทรงเอกลักษณ์กว่า 1800 ชิ้นได้ถูกเสาะหา รวบรวม และแบ่งกลุ่มตามยุคสมัยสำหรับนำมาจัดแสดงในนิทรรศการดิจิทัล โดยอาศัยบทระดมความชำนาญของบรรดาผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์แผนกต่างๆ, เจ้าหน้าที่จัดการแผนกจัดเก็บตัวอย่างผลงานสำคัญทางประวัติศาสตร์ และนักวิทยาการสร้างสรรค์

จักรวรรดิที่สอง (ค.ศ. 1850-1860)

ในปีค.ศ. 1853 ผู้ก่อตั้ง Guerlain ได้ออกแบบขวดลายผึ้ง Bee Bottle ขึ้นเป็นของขวัญทูลเกล้าถวายแด่จักรพรรดินีเออเฌนี เดอ ม็องติโฮในวโรกาสอภิเษกสมรสกับพระเจ้านโปเลียนที่ 3 รูปทรงแบบฉบับได้รับแรงบันดาลใจจากยอดเสาอนุสรณ์ใจกลางจัตุรัสว็องโดม รวมถึงกระโปรงสุ่มของสุภาพสตรีชั้นสูง และความหรูหราอลังการในงานศิลปะปิดทองประดับพระราชวังทั้งหลายแห่งจักรวรรดิที่สองของฝรั่งเศส

สุนทรียศาสตร์ใหม่ทางการออกแบบ (ค.ศ. 1860-1880)

ปฐมบททางการใช้ความคิดสร้างสรรค์ยุคใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นกับนิทรรศการ “ศิลปะตกรอบ” หรือ Salon des refuses (ซาลง เดส์ เรอฟูส์) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างปีค.ศ. 1863 พร้อมการปรากฏของอาคารสถาปัตยกรรมโฮสมานน์ทั่วกรุงปารีส บูติกสาขาหลักของ Guerlain ในย่านคนเมืองวิถีใหม่บนถนนเดอ ลา เปซ์ ได้เป็นประจักษ์พยานให้กับวิวัฒนาการของ “เมืองใหม่” ท่ามกลางการประดับประดาด้วยสวนสาธารณะแหล่งต่างๆ ซึ่งร่วมกันทำให้เมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศสได้กลายเป็นมหานครอันงดงามที่สุดของโลก

ยุคปฏิฐานนิยม (ทศวรรษ 1880)

ระหว่างที่ภูมิทัศน์ทั้งหลายต่างถูกปกคลุมไปด้วยรางรถไฟด้วยแรงขับเคลื่อนจากความรุดหน้าทางวิทยาศาสตร์ หอไอเฟลพลันสูงตระหง่านขึ้นในกลางมหานครปารีส และขณะที่สารานุกรมภาพได้เพิ่มพูนความรู้กระจ่างให้แก่เรา ศาสตร์ล้ำสมัยด้านเคมีวิทยาก็นำมาซึ่งความมหัศจรรย์ และอำนวยให้ Maison Guerlain สรรค์สร้างน้ำหอมรุ่นแรกซึ่งใช้หัวน้ำหอมเคมีสังเคราะห์เป็นส่วนผสมในการปรุงสูตร

ศิลปะลัทธิประทับใจยุคหลัง (1875-1890)

เมื่อต้องเผชิญกับวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยหลักการ และเหตุผล อันเป็นลักษณะเฉพาะของยุคสมัยในครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 ศิลปะจึงหันไปสู่อัตวิสัยทางอารมณ์มากยิ่งขึ้นดังเห็นได้จากการใช้สีสัน และเทคนิคในการแสดงออก การสร้างสรรค์งานศิลปะในยุคนี้ อาศัยการแยกส่วน หรือลดทอนโครงสร้างของทุกสิ่งเพื่อนำมาประกอบขึ้นใหม่ด้วยหวังจะมอบประสบการณ์ทางอารมณ์อันมิอาจจับต้องได้เป็นบรรทัดฐานสำคัญเช่นเดียวกันกับความรู้สึกซึ่งได้รับจากการใช้น้ำหอม

บูรพาคดีนิยม (ทศวรรษ 1890)

ด้วยความประทับใจในนิทานเรื่องต่างๆ ซึ่งถูกร้อยเรียงอยู่ใน “หนึ่งพันหนึ่งราตรี” ศิลปะยุโรปมาสุ่ยุคแห่งการยอมจำนนต่ออิทธิพลจากโลกตะวันออกหรือ “บูรพาอารยะ” ดังเห็นได้จากการใช้จินตนาการถึงอนุสาวรีย์, ทัศนียภาพ และบุคคลประวัติศาสตร์ตลอดจนตัวละครวรรณกรรม ในประมวลเรื่องปรัมปราแห่งดินแดนตะวันออกนี้เองที่ Guerlain ได้สรรค์สร้างน้ำหอมอันโด่งดังระดับตำนานขึ้นในนามว่า Shalimar

นวศิลป์ (1890-1914)

นวศิลป์หรืออาร์ต นูโว (Art Nouveau) ได้ทำให้ปารีสกลายเป็นศูนย์กลางแห่งโลกศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์, หน้าต่างกรุกระจกสี, สถาปัตยกรรม และการใช้เส้นโค้งกับทรงเว้าแสนอ่อนช้อยทั้งหลาย อันล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ ต่างร่วมกันมอบคำจำกัดความใหม่ให้แก่มหานครแห่งนี้ เพื่อดำเนินไปตามครรลองใหม่ทางสถาปัตยกรรม Guerlain ได้เปิดบูติกสาขาหลักแห่งที่สองของตนขึ้นบนถนนชองพ์เซลิเซส์ขึ้นในปีค.ศ. 1912

เสียงตะโกนกู่ก้องของทศวรรษที่ 20 (1920-1939)

เมื่อ “เสียงตะโกนกู่ก้องของทศวรรษที่ 20” หรือ Roaring Twenties ส่งพลังแรงข้ามแอตแลนติกมาจนถึงยุโรป กรุงปารีสได้ขานรับปรากฏการณ์สำคัญระดับโลกครั้งนี้ด้วยการเปิดเวทีในการแสดงออกถึงวิถีชีวิตเสรี นอกจากจะเป็นช่วงเวลาของการใช้ความคิดริเริ่มทางการสร้างสรรค์ พร้อมกับเป็นยุคทองของคาบาเรต์แล้ว ยังเป็นการปลดแอกจากข้อกำหนดมุมมองอันคับแคบทางศิลปะยุคก่อนสงครามโลก

และนี่คือช่วงเวลารุดหน้าในการขยายฐานความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงโด่งดังให้แก่ Maison Guerlain ขึ้นทั้งสองฝั่งฟากของแอตแลนติก

อาวองต์-การด์ยุคใหม่ (1950-1970)

ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ศิลปะล้ำยุคหรือ “อาวองต์-การด์” (avant-garde) ได้แทรกซึมเข้าสู่วงการภาพยนตร์ และภาพถ่าย จากที่เคยมีเพียงสีขาวกับสีดำกลับกลายเป็นงานสร้างสรรค์อันเต็มไปด้วยทุกสรรพสีที่พบได้บนถนนทุกสายของกรุงปารีส Guerlain เองก็รุดหน้าไปตามกระแสนิยมใหม่ของมหานครแห่งแสง และสีเช่นเดียวกัน

ยุคแห่งความทันสมัย (1970-2023)

ณ จุดเริ่มต้นของสหัสวรรษใหม่ ศิลปะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน หรูหรา ฟู่ฟ่า ตระการตา มีการทดลองสิ่งใหม่ๆ ในทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสไตล์ใหม่ หรือลูกเล่นหักล้างภาพจำดั้งเดิมเพื่อแยกห่างออกจากบรรทัดฐานวิชาการอันจำเจ

ขวดลายผึ้งหรือ Bee Bottle เองก็ขยายอาณาจักรของตนออกไปสู่การเป็นผลงานร่วมสร้างสรรค์กับศิลปินต่างแขนงเพื่อยกย่องวิถีใหม่ทางสุนทรีย์ศิลป์เช่นเดียวกัน

โลกแห่งอนาคต (2023-2193)
คืนป่าให้ปารีส

ปารีสนครนิรันดร์รังสรรค์ตัวเองไปตามกระแสพลังฟื้นฟูแห่งธรรมชาติ ถึงเวลาที่บรรดาอนุสาวรีย์ทางประวัติศาสตร์ และสิ่งมหัศจรรย์ทั้งหลายในธรรมชาติจะมาใช้ชีวิตร่วมกันอยู่ในระบบสมานชีวินพร้อมกับปูรากฐานใหม่ให้ทั้งมหานครงดงามอย่างที่สุดท่ามกลางความเขียวขจีของพืชพรรณ

เหนือเขตพิภพโลก

Guerlain พาเราแหงนมองสู่เวิ้งฟ้าเพื่อพบความงดงามตระการตาแห่งโลกอนาคต สรรพสีอันทรงเอกลักษณ์จรัสประกายเรืองรองออกมาจากทรวดทรงขวดลายผึ้ง Bee Bottle อยู่กลางแดนดาวแห่งจักรวาล โดยมีบรรดาเทหวัตถุประดับบารมียิ่งยงให้แก่อาณาจักรลับแลอันปราศจากกฎเกณฑ์ต่างๆ ทางกายภาพ

โลกบาดาล

ในโลกไร้น้ำหนัก ปราศจากมวลสารวัตถุให้จับต้อง ทุกอย่างในแดนบาดาลคือธารเหลว กระนั้น Bee Bottle ยังสถิตเป็นนิรันดร์ไม่ผันเปลี่ยน ท่ามกลางหลากเฉดสีน้ำเงินสด รูปทรงของขวดลายผึ้งอันยืนยงมาถึงสี่ศตวรรษยังครองความรุ่งโรจน์ในลำดับอนุชน

กระบวนการทำงาน

1. ทีมเจ้าหน้าที่แผนกจัดเก็บเอกสาร และผลงานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์ และผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของ Guerlain ได้ร่วมกันศึกษา ค้นคว้าลำดับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของ Maison Guerlain เพื่อเลือกสรร และรวบรวมผลงานมรดกชิ้นสำคัญอันสร้างชื่อในแต่ละยุค ผลงานซึ่งผ่านการคัดกรองตามลำดับเวลาจะถูกจับคู่เทียบเคียงกับข้อมูลอ้างอิงเชิงศิลปะ, แรงบันดาลใจทางสถาปัตยกรรม และภาพประกอบข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัยนั้นๆ

2. ขณะเดียวกันทีมเทคโนโลยีทางการสร้างสรรค์จะร่วมกันวิเคราะห์, ประกอบ และทดสอบ เพื่อเตรียมการพัฒนากลไกปัญญาประดิษฐ์อันสลับซับซ้อนขึ้นเป็นระบบเฉพาะกาล พร้อมกับผสมผสานอุปกรณ์ต่างๆ ทางงานปัญญาประดิษฐ์สำหรับใช้ในการสร้างภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว หรือวิดิทัศน์ อันอำนวยต่อการลงรายละเอียดในทุกแง่มุมของขวดลายผึ้ง Bee Bottle ซึ่งจะปรากฏต่อสายตา

3. แต่ละช่วงเวลาตามลำดับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์จะถูกย่อยรายละเอียดไปสู่บทสรุปของประโยคสั่งงาน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือชุดข้อมูลสั่งงานแบบ simple prompt ซึ่งถูกเขียนขึ้นให้รองรับกับการประมวลผลเข้าระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับใช้ในการสร้างภาพเสมือนจริงด้วยความช่วยเหลือจากทีมวิศวกรชุดคำสั่ง แต่ละคำในชุดข้อมูลสั่งงาน ล้วนประกอบไปด้วยข้อมูลสำคัญอันเกี่ยวพันกับองค์ประกอบในเชิงสัดส่วน, แสง, สี, เทคนิคต่างๆ ที่ใช้ในกระบวนการสร้างภาพ, ฯลฯ

4. ในขณะที่บรรดาผลงานตามลำดับเหตุการณ์ยุคแรกได้กลายเป็นบทสรุปมรดกวัฒนธรรมของ Maison Guerlain ก็ยังต้องเขียนชุดข้อมูลสั่งงานในประเด็นว่าด้วยอนาคตของขวดลายผึ้ง Bee Bottle ในการออกแบบผลงานอนาคตตามอุดมคติ แรงบันดาลใจ และข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ได้ถูกหยิบยกมาจากกระบวนทัศน์ขบถวิถีเทคโนโลยี หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการเคลื่อนไหวทางศิลปะแนว Solar Punk รวมถึงสุนทรียศาสตร์อนาคตนิยม และจินตนิยม

5. หลังผ่านกระบวนการประดิษฐ์ซ้ำวนหลายต่อหลายรอบผ่านกลไกปัญญาประดิษฐ์ระบบเฉพาะกาล ภาพลำดับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์จะถูกกระชับ และแบ่งยุคเพื่อเป็นแกนหลักของภาพยนตร์ จากนี้ กลไกในระบบปัญญาประดิษฐ์ก็จะถูกนำมาใช้สร้าง “ภาพเพิ่มเติม” ลงในช่องว่างระหว่างลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือภาพเชื่อมต่อเรื่องราวแต่ละยุคสมัย ซึ่งเท่ากับเป็นการขยายขอบเขตอิสระทางการสร้างสรรค์ได้อย่างดี
6. หลังถูกประดิษฐ์ขึ้น บรรดาภาพเพิ่มเติมรอยต่อ และภาพผลงานตามลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ยุคต่างๆ ก็จะถูกนำมาตัดต่อ และลำดับภาพร้อยเรียงขึ้นเป็นภาพยนตร์ให้มีความต่อเนื่อง และลื่นไหลด้วยกลไกปัญญาประดิษฐ์ระบบเฉพาะกาล ในส่วนข้อบกพร่อง หรือรายละเอียดปลีกย่อยที่ผิดพลาด อันถือเป็นลักษณะเฉพาะ ซึ่งต้องเกิดขึ้นตามปรกติในงานศิลปะระบบดิจิทัล อันอาศัยข้อมูลสุ่มสำหรับประมวลผล ก็จะถูกทิ้งไว้เช่นนั้น ไม่มีการตกแต่ง แก้ไข เพื่อให้กลายเป็นจุดเด่นอันทรงเอกลักษณ์ของครรลองจินตนาการสร้างสรรค์ครั้งนี้ 

ถาม & ตอบ

กลไกปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาใช้สร้างงานศิลปะระบบดิจิทัลได้อย่างไร?

กลไกปัญญาประดิษฐ์สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงสุนทรียศิลป์ได้ผ่านรูปแบบงานศิลปะระบบดิจิทัล ซึ่งกระบวนการสร้างสรรค์ย่อมเกี่ยวพันกับการเขียนชุดข้อมูลคำสั่งที่เรียกว่า prompt สำหรับส่งป้อนเข้าสู่ระบบปัญญาประดิษฐ์ ด้วยความสามารถในการวิเคราะห์ และคำนวณ กลไกต่างๆ ในระบบปัญญาประดิษฐ์จะดำเนินการสร้างภาพต้นแบบด้วยเทคนิคซึ่งเรียกว่า text-to-image หรือ “จากข้อความ-สู่-ภาพ” โดยอาศัยชุดข้อมูลคำสั่ง โจทย์ท้าทายในกระบวนการนี้อยูที่การสร้างภาพให้ตรงตามข้อมูลคำสั่งอย่างแม่นยำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

AI ถูกนำมาใช้ในงานสร้างภาพยนตร์ "BORN IN 1853. MADE FOR THE FUTURE" อย่างไร?

สำหรับการสร้างภาพยนตร์ชุดนี้ Guerlain ได้ออกแบบ ทดลอง และทดสอบผลกลไกปัญญาประดิษฐ์ระบบเฉพาะกาลของตนเองครั้งแล้วครั้งเล่าจนระบบสามารถรู้จัก, จดจำ, จำแนกแยกแยะรายละเอียด และประมวลผลสำหรับสร้างภาพขวดลายผึ้งหรือ Bee Bottle ได้อย่างสมบูรณ์แบบทุกแง่มุม จากนั้น เพื่อย้อนประวัติศาสตร์ของขวดลายผึ้งกับบรรดาผลงานชิ้นสำคัญตามลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของขวดน้ำหอมอันทรงแบบฉบับนี้ ได้มีการเขียนชุดข้อมูลคำสั่งขึ้นโดยทีมงานของ Guerlain โดยอาศัยหลักฐานต่างๆ อันมีอยู่ในแผนกจัดเก็บเอกสาร และข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของ Maison Guerlain และเมื่อเข้าสู่ระบบปัญญาประดิษฐ์ ภาพต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นจะได้รับการคัดเลือก และแก้ไข ก่อนนำมาประกอบกันขึ้นเป็นวิดิทัศน์ในท้ายสุด

ภาพยนตร์ชุดนี้ถูกสร้างขึ้นโดย AI ทั้งหมดใช่หรือไม่?

ถึงแม้ภาพต่างๆ ที่นำมาประกอบกันขึ้นเป็นภาพยนตร์ชุดนี้ จะถูกสร้างขึ้นโดยกลไกปัญญาประดิษฐ์ระบบเฉพาะกาล การป้อนข้อมูลโดยมนุษย์ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง การเลือกผลงานอันถือเป็นหลักเขต หรือตัวแทนลำดับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์, งานออกแบบการเขียนข้อมูลชุดคำสั่ง, การแก้ไข และการเลือกภาพขั้นตอนสุดท้าย ฯลฯ ตลอดจนการทำงานร่วมกันระหว่างผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ต่างแผนก, เจ้าหน้าที่ประจำแผนกจัดเก็บเอกสาร และหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ และนักเทคโนโลยีสร้างสรรค์ ล้วนมีบทบาทสำคัญในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ชุดนี้ให้ปรากฏขึ้น

ผลงานยุคอนาคตของ BEE BOTTLE (2023-2193) ในการแสดงนิทรรศการครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?


ภาพผลงานในอนาคตถือกำเนิดขึ้นจากพื้นฐานอุดมคติสุนทรีย์ของเรา อีกทั้งยังคู่ขนานไปกับพันธกิจ Guerlain อันมีต่อการธำรงความงามควบคู่ไปกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม ในการบรรลุผลทางการสร้างสรรค์ส่วนนี้ ยังอาศัยแรงบันดาลใจจากการเคลื่อนไหวทางแวดวงศิลปะ อย่างกระแส Solar Punk หรือสุนทรียศิลป์อันสุดวิจิตรบรรจงในยุคต่างๆ

เพราะเหตุใด MAISON GUERLAIN จึงเลือกกระบวนการนี้?

ด้วยพันธกิจมุ่งมั่นขององค์กรต่อมรดก และประวัติศาสตร์ศิลปะ Maison Guerlain เต็มเปี่ยมไปด้วยปรารถนาที่จะสำรวจ และศึกษาถึงศักยภาพการสร้างสรรค์ของกลไกต่างๆ ในระบบปัญญาประดิษฐ์ วาระครบรอบ 170 ปีของ Bee Bottle ได้เปิดโอกาสในการย้อนรอยสู่รากฐานมรดกวัฒนธรรมองค์กรผ่านมุมมองของระบบปัญญาประดิษฐ์ และยกระดับวิทยาการแขนงนี้ไปสู่การสร้างภาพ หรือนำเสนอภาพอนาคตในอุดมคติ

GUERLAIN ใช้แนวทางใดในการนำเสนอมุมมองสร้างสรรค์ผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์?

เราอยากเชื่อว่าระบบปัญญาประดิษฐ์ และความละเอียดอ่อนทางระบบรับรู้ของมนุษยชาติสามารถทำงานร่วมกันได้เสมือนเป็นพันธมิตรทางการสร้างสรรค์ แทนที่จะเป็นคู่แข่งซึ่งกันและกัน ด้วยวัตถุประสงค์นี้ เราจึงวางกฎหลักสามประการขึ้นเป็นแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษยชาติกับปัญญาประดิษฐ์ นั่นก็คือ

จะไม่มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์แทนที่มนุษย์: ระบบการรับรู้ และการใช้สัญชาตญาณมนุษย์ จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกขั้นตอนของกระบวนการสร้างสรรค์

ปัญญามนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์จะร่วมกันยกระดับกระบวนการสร้างสรรค์เพื่อให้กำเนิดผลงานที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่สามารถสร้างขึ้นได้โดยลำพัง

ข้อบกพร่อง และความผิดพลาดใดๆ ในงานศิลปะระบบดิจิทัล ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจศึกษาเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเราต้องยอมรับ เรามีจุดประสงค์ที่จะเก็บสิ่งเหล่านั้นไว้